เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาทางคณะรัฐมนตรี รับข้อเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้เตรียมจัดระเบียบร้านเกมใหม่ พร้อมตั้งคณะกรรมการ.ระดับชาติ-จังหวัด ให้อำนาจจัดเซ็นเซอร์-จัดเรทติ้งเกม
เนื่องด้วยปัจจุบัน ธุรกิจร้านเกมและอินเตอร์เน็ตมีมากมายจนเทียบไม่ได้กับเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้ เหตุเพราะด้วยตอนนี้โลกเข้าสู่ยุคของอินเตอร์เน็ตไปซะแล้ว ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ แต่กับเกมที่ต้องการคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกมนั้น เด็กๆบางคนไม่สามารถเล่นที่บ้านได้ ร้านอินเตอร์เน็ตและเกม จึงได้กลายเป็นที่ที่พวกเขาจะมาพูดคุย เล่นเกมกันเป็นประจำ
ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เด็กๆที่มาเล่นที่ร้านเกมก็มักจะมีการแข่งขันด้วยกันเอง หรือแข่งขันกับเพื่อนในโลกออนไลน์จนบางทีมันเกิดปัญหาต่างๆตามมากมาย การรวมกลุ่มกันของเพื่อนรุ่นเดียวกัน คนเป็นรุ่นพี่หรือแม้แต่รุ่นน้องก็อาจจะเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นบางครั้ง ซึ่งก็มีไม่น้อยที่จะเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา จนกลายเป็นปัญหาสังคมไปซะอย่างนั้น
เมื่อมันเกิดปัญหาสั่งสมกันมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเรื่องเด็กเล่นเกมจนไม่ได้พักไม่ได้นอนและเสียชีวิต หรือการใช้ความรุนแรงที่แหล่งก็จะมาจากเกม เด็กขโมยเงินพ่อแม่เพื่อมาร้านเกมก็ดี ปัญหาดังกล่าวสะสมกันมาจนต้องเกิดการแก้ปัญหาในการควบคุมดูแลร้านเกมและอินเตอร์เน็ต ซึ่งมาตรการที่เคยออกมาคือการกำหนดระยะเวลาที่เด็กอายุต่ำกว่าเท่านี้เท่านั้นเข้าร้านได้ และต้องเลิกก่อนเวลาเท่านี้เป็นต้น
หลังจากนั้นก็ยังคงเกิดปัญหาเดิมๆตามมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนถึงที่สุดเมื่อวันอังคารที่ 10 พฤศจิกายนทางครม. รับข้อเสนอ ป.ป.ช. ให้ดันวธ.นำทัพจัดระเบียบร้านเกม ตั้งคณะกรรมการระดับชาติ-จังหวัด ให้อำนาจจัดเซ็นเซอร์-จัดเรทติ้งเกมและกำหนดโซนนิ่งตั้งร้าน พร้อมแนะให้บังคับใช้และแก้กม.ด้วยการเพิ่มโทษ
ผลสืบเนื่องจากเรื่องดังกล่าวพบว่ามีร้านเกมและอินเตอร์เน็ตจำนวนมากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้บริการเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปมั่วสุมในร้านเกมนอกเหนือเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยปราศจากการตรวจสอบ กำกับดูแลและดำเนินการอย่างเข้มงวด จากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นป.ป.ช.จึงเห็นสมควรมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจร้านเกมและอินเตอร์เน็ตต่อครม.
เนื้อหาคร่าวๆก็จะมีการกำหนดนโยบายให้สถานศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหาร้านฯที่ให้บริการบริเวณใกล้เคียงกับสถานศึกษา กำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาและแนวทางเยียวยาเด็กที่มีปัญหาติดเกมและอินเตอร์เน็ต นอกจากนี้ในประเด็นการเผยแพร่เกมและเกมออนไลน์ที่ให้บริการในประเทศไทยต้องได้รับอนุญาตตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ ก่อนที่จะให้บริการ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเกมดังกล่าวเป็นเกมที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมก็มีหน้าที่แจ้งให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานกสทช. และผู้ให้บริการ(ISP) ทำการปิดกั้น รวมทั้งเสนอให้วธ.ศึกษาถึงแนวคิด รูปแบบ ประโยชน์ และความเหมาะสมในการจัดระดับเนื้อหาความรุนแรงของเกม(Game Rating) และให้ศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการกำหนดเขต(โซนนิ่ง)ร้านเกมและอินเตอร์เน็ตด้วย
ยอมรับว่าปัญหาเด็กติดเกมเป็นปัญหาที่ใหญ่เหมือนกันในบ้านเรา และเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานมาก การจะแก้ก็คงจะต้องใช้เวลา แต่อยากให้ลองเปลี่ยนมุมมองกันหน่อยว่า ปัญหาที่แท้จริงมันเกิดขึ้นเพราะอะไรกันแน่? พวกเราได้เริ่มมองปัญหานั้นแล้ว แต่มองถูกที่หรือเปล่า เราควรมองก่อนไหมว่าทำไมเด็กถึงติดเกม และทำไมถึงเป็นแบบนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นมันมาจากเด็กส่วนมากหรือส่วนน้อย มีกี่คนที่มีปัญหากันแน่? ผมเคยเห็นหลายคนที่ประสบความสำเร็จเพราะเล่นเกม พวกเขามีแรงบันดาลใจมากมาย มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าการเล่นเกมไปแล้ว เลยอยากหันกลับมามองว่า “เกม” มันเป็นปัญหาจริงหรือเปล่า
ผมก็เลยเกิดคำถามในใจขึ้นมาว่าทำไมถึงไปโฟกัสที่ร้านเกมและอินเตอร์เน็ตแทนล่ะ? ทำไมถึงมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับเหล่าเด็กติดเกมมาจากเกม หรือมาจากร้านเกมกันล่ะ จริงอยู่ว่าการที่มีร้านให้บริการเกมเกิดขึ้นใกล้สถานศึกษาจะเป็นธรรมดาที่เมื่อเลิกเรียนแล้ว เหล่าเด็กที่เล่นเกมก็จะไปรวมตัวที่นั้น แต่ถ้าถามว่าปัญหาการทะเลาะกัน หรือปัญหาเด็กสิงอยู่ที่ร้านเกมมันมาจากเกมหรือที่ธุรกิจร้านไหม? คงต้องตอบว่า”ไม่”ล่ะ การที่เราไปให้ความสนใจแก้ปัญหาเรื่องเด็กติดเกม น่าจะลองหาว่าทำไมพวกเขาถึงสนใจที่จะเล่นแต่เกมซะมากกว่า อาจจะมีปัจจัยที่เราอาจไม่รู้เช่น เล่นตามเพื่อน ไม่มีอะไรทำ ไม่รู้ว่าจะทำอะไรก็เลยเล่นเกม ซึ่งตรงนี้เราก็สามารถสืบตามต่อได้ว่าเหตุใดพวกเขาจึงมีปัญหาแบบนี้
ข้อมูลอ้างอิงจาก bangkokbiznews