ต้องบอกเลยว่านอกจากในเรื่องของสเปคคอมพิวเตอร์แล้วยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการเล่นเกมที่หลายคนอาจจะมองข้ามมันก็คือเรื่องของ จอคอมพิวเตอร์หรือ Monitor ซึ่งตอนนี้บอกเลยว่าจอคอมพิวเตอร์นั้นมีอยู่มากมายหลายรุ่นหลากแบรนด์ และหลายช่วงราคา ทำให้การเลือกซื้อจอคอมพิวเตอร์นั้นอาจจะทำให้คนที่ไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องรายละเอียดของจอคอมพิวเตอร์จะพลาดกันได้ง่ายๆ อาจจะได้จอราคาแพงที่ซื้อมาแล้วรู้สึกว่าไม่คุ้มค่าเงินที่เสียไป หรือไม่ตรงกับความต้องการเท่าไหร่นัก ดังนั้นเราจะมาแนะนำเกี่ยวกับเรื่องสำคัญหลายๆ อย่างที่ควรมองในข้อมูลสเปคก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อจอคอมพิวเตอร์ตัวใดตัวหนึ่งนั่นเอง จะได้รู้ว่าทำไมตัวนี้ถึงแพง ทำไมตัวนี้ถึงถูกจัง ทั้งๆ ที่มีขนาดจอเท่ากัน เพียงแต่เท่าที่เราบอกนั้นอาจจะยังไม่หมดเพราะยังมีส่วนเสริมอื่นๆ อย่างเช่นพวก Flicker-free Technology, Motion Blur Reduction หรือเทคโนโลยีพิเศษของแต่ละยี่ห้อที่แตกต่างกันไป เทคโนโลยีพวกนี้ส่วนใหญ่ Monitor ตัว TOP นั้น จะมีติดมาเหมือนกันหมดอยู่แล้ว หรือตัวที่มีราคารองลงมาเรื่อยๆ ก็จะมีการตัดพวกนี้หั่นลงไปนั่นเอง และก็อาจจะมี Monitor บางตัวที่ยอมตัดเทคโนโลยี พวกนี้ออกไปแต่คงไว้ในเรื่องจำเป็นอย่างพวก Refresh Rate, Resolution, Panel IPS แล้วจะได้มีราคาที่ต่ำกว่าตัวอื่นๆ ในรุ่นเทียบเคียงกัน นอกจากนี้เราก็ยังมี 5 จอคอมระดับ TOP มาแนะนำให้ดูกันที่ https://compgamer.com/41536
ลองจัด Spec คอมที่ https://notebookspec.com/web/ เวลาเลือกจอทีนี่ขึ้นมาให้เลือกแบบเยอะมาก
1.ดูที่ขนาดของจอและความละเอียดภาพ
ขนาดของจอก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยมาตรฐานสำหรับเกมเมอร์ตอนนี้หากเล็งจอใหม่สักตัว อย่างน้อยก็ต้องได้ความละเอียดภาพ (Resolution) แบบ 1920 x 1080 ที่เป็น Full-HD เริ่มต้นที่ 21 นิ้ว ราคาเปิดจะอยู่ช่วง 3,000 บาท แต่หากอยากขยับไปอีกขั้นเราก็อยากแนะนำว่าไปที่ 27 นิ้วได้เลย และมีความละเอียดแบบ 2560 x 1440 (2K) รู้สึกว่าราคาในไทยจะอยู่ที่ประมาณ 13,000 บาทขึ้นไป ต้องจุดนี้ต้องระวัง ถึงแม้จอคอมพิวเตอร์บางตัวจะใหญ่ขนาด 27 นิ้วก็ตาม แต่ค่าความละเอียดหรือ Resolution ยังคงเป็นแบบ Full-HD อยู่ไม่ได้เป็น 2560 x 1440 (2K) เพิ่มขึ้นตามแค่จอมันใหญ่ขึ้นเท่านั้นเอง
*ตอนนี้เรื่องความละเอียดของภาพ เป็นที่ถกเถียงกันพอสมควรเนื่องจาก ความละเอียดภาพแบบ 1920 x 1080 หรือ Full-HD มักจะถูกเคลมว่าเป็น 2K เต็มๆ ไปแล้ว แต่สำหรับ 2560 x 1440 นั้นก็ถูกเรียกว่า 2K เช่นกัน (จริงๆ มันควรจะเป็น 2.5K) เวลาย่อตัวอักษรจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ ซึ่งในบทความนี้ขอนิยามความละเอียดแบบ 1920 x 1080 ว่าเป็น Full-HD ส่วน 2K จะหมายถึง 2560 x 1440 แทน เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดกันได้
ตามหน้าเว็บ IT ชั้นนำบอกเลยว่ามี Monitor ให้เลือกหลายแบบเอามากๆ จนเลือกกันไม่ถูก
2.เรื่อง Panel ของจอ 3 แบบ ที่เห็นในตลาด IPS, TN และ VA (ค่าที่เกี่ยวข้องกับเกมเมอร์คือ Response Time)
เรื่องของ Panel ในจอคอมพิวเตอร์ตอนนี้จะใช้แบบ IPS เป็นส่วนมาก ข้อดีของ IPS ก็คือจอภาพจะมีสีสวยสดดูสบายตา จะมีองศาของจอที่กว้างถึง 178 องศา เรื่ององศาในสเปคมักจะเขียนบอกแบบ Viewing Angle 178°/178° (มุมในแนวนอน/มุมในแนวตั้ง) ถ้าเห็นแบบนี้รับรองได้เลยว่ามันคือ Panel แบบ IPS แน่นอน และเป็น Panel ที่นิยมอยู่ในตลาดขณะนี้ ส่วนอีกหนึ่งแบบที่เห็นได้บ่อยๆ ก็คือ TN (Twisted Nematic) เมื่อเทียบกับ IPS แล้วมันจะมีราคาที่ถูกกว่าอยู่เสมอ ด้วยเหตุที่สีของภาพจะไม่สวยสดสมจริงเท่าจอ IPS และมุมมององศานั้นก็จะน้อยกว่าสูงสุดที่ 170°/160° แต่จะมีจุดขายหลักอยู่ที่ค่า Response Time ที่ต่ำเอามากๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 1ms เลย เรียกได้ว่าเราขยับเมาส์จอจะแสดงผลทันที ส่วนของ Panel แบบ IPS นั้นจะมีค่า Response Time อยู่ที่ประมาณ 4-8 ms อย่างสุดท้ายก็คือ VA Vertical Alignment อันนี้อาจจะเห็นไม่ค่อยบ่อยเท่าไหร่นัก หากให้เทียบก็คือมันอยู่จุดกึ่งกลางระหว่าง IPS และ TN คือ มีมุมมองที่น้อยกว่า IPS แต่ก็เยอะกว่า TN ส่วนเรื่อง Response Time จะเยอะกว่า TN แต่ก็ไม่มากกว่า IPS
*ค่า Response Time หรือ Inputs Lag นั้นค่อนข้างเป็นเรื่องถงเถียงกันพอสมควร เนื่องด้วยความแตกต่างของจอ TN ที่เรียกว่าเหมาะสำหรับเกมเมอร์เป็นอย่างมาก เพราะจอมันแทบจะแสดงผลขยับตามการตอบสนองของเราทันที ส่วน IPS จะมีค่านี้สูงกว่าหน่อย แต่หากเทียบตามความเป็นจริงบางคนอาจจะบอกว่ามันไม่แตกต่างกันเลย หากเอาจอ 1ms มาเทียบกับพวก 5ms เพราะว่าค่า ms ที่ว่านี้ย่อมาจากคำว่า millisecond หรือเสี้ยววินาทีนั่นแหละ หากเทียบกับช่วงเวลารับรู้ของตัวเรามันน้อยเอามากๆ จนแทบไม่เห็นผลต่างเลย ทางที่ดีก่อนซื้อจอถ้าเป็นไปได้ ก็ลองทดสอบด้วยสายตาของคุณเองนั่นแหละดีที่สุด โดยเอาจอ IPS ตัวที่มี ms ประมาณ 4-8 ms มาเล่น เทียบกับจอ TN ที่มีค่า Response Time น้อยแบบ 1-2 ms (สเปคคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เช่นเมาส์, คีย์บอร์ด ที่จะใช้ทดสอบเล่นเกมต้องเหมือนกัน และการทดสอบแนะนำให้เล่นเกมไปเลย แล้วลองหมุนซ้ายขวาในเกมดูถึงจะเรียกว่าทดสอบจริงๆ แต่หากแค่เพียงเอาจอมาตั้งแล้วลองเมาส์ขยับเฉยๆ จะรู้สึกถึงความแตกต่างยากมากและไม่อาจนับเป็นการทดสอบค่า Response Time ได้อย่างแท้จริง) แล้วคุณเห็นผลต่างของมันก็แนะนำให้เลือกซื้อจอแบบ TN ไปเลย แต่ก็ต้องยอมลดคุณภาพของสีภาพลงหน่อย สำหรับเกมเมอร์แล้ว การตอบสนองของจอภาพที่เร็วกว่าถือเป็นเรื่องจำเป็นมาก โดยเฉพาะในเกมพวก FPS
คลิปเปรียบเทียบระหว่างจอแบบ IPS กับ TN (จะเห็นเรื่องความต่างของสีชัดมาก)
3. Refresh Rate ค่านี้สำคัญมากยิ่งสูงยิ่งเห็นภาพในเกมชัดเจนมากขึ้น
ค่า Refresh Rate หรือที่เรียกกันว่าอัตราการกระพริบของหน้าจอ ยิ่งเยอะก็ยิ่งดี ภาพจะนิ่งมาก โดยปกติแล้วจอทั่วไป ส่วนมากจะมีค่านี้อยู่ที่ 60 Hz เท่านั้น แต่หากอยากให้สุดสำหรับสายเกมเมอร์ และคนที่เล่นเกมแนว FPS ด้วยแล้วล่ะก็เพราะมันคือเรื่องของความนิ่งและความคมชัดที่หน้าจอแสดงผลยิ่งมากก็ยิ่งดี โดยพวกจอคอมพิวเตอร์ตัว TOP จะสามารถปรับได้สูงที่ 144 Hz เลยทีเดียว สำหรับเรื่อง Refresh Rate นั้น บอกตามตรงว่า ถ้าให้ทดสอบแบบเอามาตั้งเฉยๆ ก็เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่ามันแตกต่างกันมากระหว่างจอที่ 60 Hz กับ 144 Hz เพียงแต่จอที่ปรับค่า Refresh Rate ได้สุดนั้น ส่วนใหญ่จะมีราคาที่ค่อนข้างสูง เห็นอยู่ราวๆ 9,000 บาทได้ หากเห็นจอที่เขียนว่า 144 Hz แล้วราคาถูก ก็แนะนำให้เล็งซื้อมันได้เลย
*อีกหนึ่งเรื่องที่ควรดูในเรื่องของค่า Refresh Rate นั้นต้องดูที่สายของจอในการรองรับด้วย และตัวการ์ดจอของเราก็ต้องรองรับช่องเดียวกับสายนั้นๆ อย่างเช่น จอ BenQ XL2430T หากใช้สาย VGA หรือ HDMI จะปรับได้สุดที่ 120 Hz แต่หากใช้ DVI-DL หรือ DP ถึงจะปรับได้สุดที่ 144 Hz
*อย่างสุดท้ายเกี่ยวกับ Refresh Rate ค่านี้ยิ่งปรับสูงเท่าไหร่อัตราการซดไฟก็ยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้นและการทำงานของ GPU ก็สูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะใครที่ใช้จอแบบ 144Hz ให้ดูค่าไฟท้ายเดือนได้เลย รับรองว่ามันจ่ายแพงขึ้นกว่าจอ 60 Hz รู้สึกได้ชัดเจน
อันนี้เป็นภาพที่หน้าเว็บหลักของตัว XL243OT แต่ละสายก็ได้ค่า Refresh Rate ไม่เท่ากัน
4.เทคโนโลยี G-Sync, FreeSync ลดการเลื่อมล้ำของภาพ
ก่อนจะเข้าเรื่องนั้นต้องมีการอธิบายถึงปัญหาการเลื่อนล้ำ (Screen Tearing) ของการแสดงผลระหว่างตัว การ์ดจอ กับหน้าจอของเรา เมื่อทั้ง 2 อย่างนี้มันประมวลผลและแสดงผลแบบที่ไม่ตรงกัน เช่น ค่า FPS ในเกมที่ได้จากการ์ดจอเร็วกว่าค่า Refresh Rate ของจอแสดงผล มันจะเกิดผลขึ้นที่หน้าจอของเรา ด้วยการแสดงภาพแบบเลื่อมล้ำออกมา โดยเฉพาะกับเกมพวกแนว FPS หรือเกมที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ยิ่งโดยเฉพาะเวลาที่มี Effect การประมวลผลเยอะ จะเกิดปัญหานี้มากขึ้นตามไปด้วย ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพเลยก็คือ สมมุติว่าเราเล่นเกมแล้วได้ค่า FPS ที่ประมวลผลจาก การ์ดจอออกมาที่ 120 FPS แต่ตัวจอของเรารองรับได้แค่ 60 Hz เท่ากับว่า ใน 1 วินาทีนั้นการ์ดจอจะเขียนภาพออกมา 120 ภาพ แต่ตัวจอแสดงผลได้แค่เพียง 60 ภาพเท่านั้น (แสดงผลได้แค่ครึ่งหนึ่ง) ด้วยความแตกต่างนี้แหละจึงทำให้เกิดอาการภาพเลื่อมล้ำออกมาได้นั่นเอง
ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Screen_tearing
จึงทำให้เกิดวิธีการแก้ปัญหานี้ด้วยระบบที่เรียกว่าการ Sync ระหว่างการ์ดจอเข้ากับตัวหน้าจอ (Monitor) ทำให้ปัญหา Tearing นี้หมดไป เพราะมันจะบังคับค่า FPS ให้นิ่งอยู่ที่ค่าใดค่าหนึ่ง เพื่อให้ตรงกับค่า Refresh Rate ที่หน้าจอนั่นเอง หากให้อธิบายง่ายก็คือระหว่างที่การ์ดจอวาดเส้นๆ หนึ่งออกมา ตัวหน้าจอก็จะแสดงเส้นนั้นออกมาจริงๆ ในเวลาที่พร้อมกัน ไม่มีการเลื่อมล้ำของภาพ และปัญหาการ Tearing ก็หมดไปนั่นเอง สำหรับจอคอมระดับ TOP ก็จะมีเทคโนโลยีเฉพาะออกมาเพื่อแก้ปัญหาการ Tearing ของภาพให้หมดไป อย่าง Free-Sync และ G-Sync แต่ก็แลกมาด้วยราคาของจอที่สูงเพิ่มมากขึ้นยิ่งกว่าจอเดิมๆ
กราฟเปรียบเทียบประสิทธิภาพความต่างระหว่าง Free-Sync และ G-Sync
ทีนี้มารู้จักกับเทคโนโลยีในการ Sync กันบ้างดีกว่า
V-Sync : อันนี้คาดว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินหรือรู้จักกันดี เพราะมันคือการ Sync แบบปกติที่มีให้เลือกในเกมอยู่เป็นประจำ แต่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการ V-Sync นี้ เนื่องด้วยเพราะว่า ถึงแม้มันจะบังคับให้ FPS และ Refresh Rate เท่ากัน ตัดปัญหาการ Tearing ไปได้ก็จริง แต่ผลที่ตามมาก็คือเกิด Respone time ที่มากจนเกินไป หรือที่เราเรียกว่า Lag นั่นแหละ อาการนี้จะแสดงออกอย่างชัดเจนเลย เวลาที่เราเลื่อนเมาส์จริง แต่ในจอคอมกว่ามันจะเลื่อนก็รู้สึกถึงความช้า ทำให้มันตอบสนองต่อการขยับตัวละครของเราไม่ตรงความจริง อาจจะช้ากว่า 0.5 – 1 วินาที เล่นเกมแล้วจะรู้สึกไม่สนุกเป็นอย่างมาก สู้ยอมให้มันเกิดการ Tearing บ้างจะดีเสียกว่าอีก แต่ตัวละครของเราขยับตรงตามที่เรากดจริง
การปรับ V-Sync ในเกม CS:GO บอกเลยว่าเป็นอะไรที่โหดร้ายมาก ยิงใครไม่โดนแน่นอน
Adaptive-Sync : การ Sync แบบนี้จะทำให้ค่า Refresh Rate ของจอตรงกับค่า FPS ที่ได้จาก GPU และการ Adptive-Sync นั้นเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า Free-Sync ของทาง AMD สำหรับ Adptive-Sync นั้นสามารถใช้ได้กับ AMD และ CPU ของ Intel บางตัว ส่วนทางด้าน Nvidia ไม่รองรับระบบ Adptive-Sync
Free-Sync : ต้องบอกเลยว่า Free-Sync นั้นรองรับเฉพาะแค่การ์ดจอของทางค่าย AMD เท่านั้น อย่างที่ได้บอกไปว่ามันจะทำการปรับให้ตัวค่า Refresh Rate ของหน้าจอเข้ากับตัวการ์ดจอ ทำให้การแสดงผลออกมาตรง และตัดปัญหาเรื่องการ Lag ใน V-Sync ออกไป เท่ากับว่าหากใช้ Free-Sync นั้นเราจะเล่นเกมได้โดยที่ไม่เกิดการเลื่อมล้ำของภาพและมีค่า Respone Time ที่ต่ำตามสเปคของหน้าจอเราเลย
G-Sync : อันนี้เป็นเทคโนโลยีของทางด้าน Nvidia แทน โดยใช้ได้กับเฉพาะการ์ดจอของทาง Nvidia ผลที่ได้เมื่อใช้เทคโนโลยีนี้ก็คือ ตัดปัญหา Tearing ออก และได้ค่า Respone Time ที่ตรงตามจอ Monitor นอกจากนั้น Nvidia ยังมี Sync อีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า Fast Sync ติดมาในการ์ดจอของทาง Nvidia เลยที่จะทำงานเมื่อค่า FPS ทะลุเกินค่า Refresh Rate ของจอ
Credit เรื่องการ Sync : https://www.reddit.com/r/buildapc/comments/4p0q7a/lets_talk_about_vsync_freesync_gsync_adaptivesync/, https://www.pcper.com/reviews/Graphics-Cards/Dissecting-G-Sync-and-FreeSync-How-Technologies-Differ