คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดโครงการ BU GAME JAM 2019 เป็นปีที่ 2 ร่วมกับพันธมิตรด้านการศึกษาในอุตสาหกรรมเกมชั้นนำ เปิดเวทีแข่งขันระดับนักศึกษา ปูทางสู่การยกระดับคุณภาพนักพัฒนาเกมในอนาคต นำเสนอผลงานการออกแบบเกมคอมพิวเตอร์ ผลลัพธ์จากกระบวนการเรียนการสอนล้ำอนาคตตามแนวคิด Creativity + Technology ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาเกมและสื่อเชิงโต้ตอบ ยกทีมโชว์เด่นเทคนิคการเล่าเรื่องผ่านเกม (Storytelling) สนุกเร้าใจ ไอเดียสร้างสรรค์เป็นเลิศที่สามารถพัฒนาต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ และได้ทำการประกาศผลการแข่งขันเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2562 ห้อง BU Diamond Hall มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต ที่ผ่านมา
ดร.พัฒนพล เหรียญโมรา รองคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า โครงการ BU GAME JAM เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ประจำปีที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพใช้เป็นเวทีฝึกฝนทักษะและเพิ่มประสบการณ์เรียนรู้ในการพัฒนาเกมและสื่อเชิงโต้ตอบ ส่งเสริมการลงมือปฏิบัติผ่านกระบวนการเรียนการสอนตามแนวคิด Creativity + Technology โดยผสานความรู้ข้ามศาสตร์ คือ วิชา Digital Storytelling คณะนิเทศศาสตร์และวิชา Object-oriented Programming คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม รวมทั้งจัดบรรยายพิเศษให้นักศึกษาโดยเชิญวิทยากรมืออาชีพตัวจริง มาให้ความรู้ มุมมอง และแบ่งปันประสบการณ์ตรงช่วยชี้แนะแนวทางและเทรนด์การออกแบบเกมที่โดนใจตลาด “นักพัฒนาเกมที่มีฝีมือต้องมีเวทีพัฒนาทักษะทุกด้านทั้ง ความคิดสร้างสรรค์ การเล่าเรื่อง และการใช้เทคโนโลยี เวที GAME JAM ในระดับสากลที่จัดขึ้นในหลายประเทศชั้นนำ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่สามารถยกระดับความสามารถของนักพัฒนาเกมได้ดี รูปแบบ BU GAME JAM จึงเป็นเครื่องมือลับสมองประลองฝีมือของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรมเกมและสื่ออินเตอร์แอคทีฟอย่างมีคุณภาพ โดยสามารถทำงานไปพร้อมๆ กับการเรียน” ดร.พัฒนพล กล่าว
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดหลักสูตรเกมและสื่อเชิงโต้ตอบ โดยมีมหาวิทยาลัย Full Sail University สหรัฐอเมริกา ผู้นำระดับโลกสาขา Game Design ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร มุ่งผลิตบุคลากรรองรับทุกสายงานอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกมและอีสปอร์ต เช่น Animator , Audio Engineer, Game Creative Director, DevOps Engineer, Game Designer, Technical Artist และ ฯลฯ โดยให้นักศึกษาได้ลงมือทำงานจริงกับองค์กรที่ร่วมเป็นพันธมิตรด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเกม การทำโปรเจ็กต์เกม โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเกมเป็นพี่เลี้ยงชี้แนะให้คำปรึกษา มีการศึกษาดูงานกับบริษัทผู้ผลิตเกม ร่วมรายการแข่งขันเกม และกีฬาอีสปอร์ตในทัวนาเม้นต์ต่างๆ
เมื่อร่วมการแข่งขัน BU GAME JAM 2019 นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มีโอกาสฝึกทักษะ Soft Skill ที่สำคัญ เช่น ความคิดสร้างสรรค์และการทำงานเป็นทีม รวมทั้งทักษะในสายอาชีพที่ชอบและใช่ การแข่งขันครั้งนี้มีผู้เข้าแข่งขันทั้งสิ้น 50 ราย กำหนดเวลา 7 สัปดาห์ ให้นักศึกษารวมกลุ่มพัฒนาเรื่องราว (Story) และตัวต้นแบบ (Model) ของเกมคอมพิวเตอร์ และมี10 ผลงานที่ผ่านรอบคัดเลือก
ในรอบชิงชนะเลิศ นักศึกษานำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นพันธมิตรด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จากภาคอุตสาหกรรมเกมและสื่อเชิงโต้ตอบ ประกอบด้วย 1. บริษัท ทรู แอกซิออน 2. บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (Yggdrazil group Co.,Ltd.) 3.บริษัท ดีบัสซ์ จำกัด (Debuz Co.,Ltd.) และ4. Wicket Gaming (Thailand) Co.,Ltd. โดยมีเกณฑ์การพิจารณาแบ่งเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ การเล่าเรื่องสนุก-น่าสนใจ และการนำไปพัฒนาต่อยอดในเชิงธุรกิจ
ภายในงานยังมีการบรรยายพิเศษให้ความรู้นักศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพตัวจริงในอุตสาหกรรมเกม มีนายศรัญย์พัจน์ เสรีวัฒนา Visionary บริษัท Cloud Colour จำกัด ให้ความรู้ในเรื่อง “การวิเคราะห์และออกแบบเกม” และนายจิรายุ บุตรขุนทอง Mobile Game Marketing Senior Association บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด หัวข้อ “การทำตลาดและการดูแล Game Community”
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ“เกมเป็นศาสตร์ที่ผสานความรู้ในหลายด้านทั้งไอที คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ การตลาด การเล่าเรื่อง คนทำเกมต้องเล่นเกมเยอะ อ่านหนังสือให้มากหลากหลายประเภทและต้องไม่หยุดเรียนรู้ ผลงานเกมของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยกรุงเทพใน BU GAME JAM 2019 ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ กิจกรรมแบบนี้ช่วยเพิ่มประสบการณ์ในการทำงานให้นักศึกษา เป็นเวทีทำให้พวกเขาได้ใช้ความรู้ที่มีนำเสนอผลงาน ได้ฝึกฝนฝีมือไปเรื่อยๆ ถือเป็นการบ่มเพาะบุคลากรสายเกมที่จะเข้าสู่ตลาดงานจริงได้ในอนาคต” นายศรัญย์พัจน์ กล่าวให้ความเห็นหลังจากชมผลงานทั้งสิบโปรเจ็คของนักศึกษาที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือก
ด้านนายจิรายุ บุตรขุนทอง Mobile Game Marketing Senior Association บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวปิดท้ายว่า ทักษะสำคัญที่คนสายเกมต้องฝึกฝนตนเองคือ มีความใฝ่เรียนรู้ ไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว และพร้อมเรียนรู้ใหม่เสมอ “อุตสาหกรรมเกมเติบโตและขยายตัวในอัตราสูงมากทุกๆ ปี หลายตำแหน่งงานต้องการคนทำงานมืออาชีพที่มีความสามารถ เราดีใจที่มีสถาบันการศึกษาให้ความสำคัญกับการพัฒนาบัณฑิตสาขาเกม สร้างคนที่ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ”
ผลการแข่งขัน BU GAME JAM 2019
อันดับ 1และ รางวัล Popular Vote ทีม Project Memories
รองชนะเลิศอันดับ1 ทีม Lanticon
รองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม Grand Forest